25580131

โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคเบลพาซี ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อาการเป็นอย่างไร

โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคเบลพาซี ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก อาการเป็นอย่างไร

โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคเบลล์ พอสซี่ belle’s palsy หรือ โรคเบลล์ พัลซี่(bell palsy) หรือ ชื่อแบบไทยไทย เรียกว่า ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก จริงๆแล้วไม่ใช่จะสามารถเกิดได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่ง ส่วมมากจะเกิดจากภาวะที่เส้นประสาทควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้ามีการอักเสบ หรือ ติดเชื้อไวรัสปลายประสาทคู่ที่ 7 อักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง ทานน้ำมีน้ำไหลจากมุมปาก บางรายมีอาการลิ้นชาหรือหูอื้อ ๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมงครับ และในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ โรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคเบลล์ พอสซี่ belle’s palsy หรือ โรคเบลล์ พัลซี่(bell palsy) หรือ ชื่อแบบไทยไทย เรียกว่า ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ให้มากขึ้นกันครับ

ติดเชื้อปลายประสาทคู่ที่ 7 โรคชวนผวา...รักษาได้

กลายเป็นข่าวน่าตกใจช็อกวงการบันเทิงอีกข่าวหนึ่งสำหรับ โอ-อนุชิต สพันธ์พงษ์ ดารา นักแสดง ที่ป่วยเป็น โรคติดเชื้อไวรัสปลายประสาทคู่ที่ 7 โดยมีอาการควบคุมใบหน้าซีกซ้ายไม่ได้ ลักษณะจึงคล้ายกับคนปากเบี้ยวจนเจ้าตัววิตกกังวลเกรงว่าจะกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต...!!

จากกระแส ข่าวที่แพร่สะพัดถึงอันตรายของโรคนี้เองได้สร้างความตื่นตระหนก ให้กับผู้ที่รับทราบข่าวสารไปตาม ๆ กัน ล่าสุด นพ.วัชรพงศ์ ชูศรี อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ว่า

โรคติดเชื้อไวรัสปลายประสาทคู่ที่ 7 หรือโรคปากเบี้ยวนี้ เราเรียกว่าโรค “Bell palsy” เพราะได้ชื่อมาจาก Charles Bell ศัลยแพทย์ชาวสกอตต์ ซึ่งเป็นผู้บรรยายอาการของโรคนี้ไว้เป็นท่านแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

ทั้งนี้ลักษณะอาการที่แสดง ออกจะเป็นอาการกล้ามเนื้อ ใบหน้าอ่อนแรงอันเกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Facial nerve) อักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทางเดินของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ดังกล่าวจะออกจากก้านสมอง ผ่านใต้กะโหลกศีรษะมาโผล่ที่หน้าหูแล้วแยกเป็นสองแขนงทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าด้านเดียวกัน แขนงบนช่วยในการหลับตา แขนงล่างช่วยดึงกล้ามเนื้อมุมปาก เช่น การยิ้ม การห่อปาก นอกจากนี้ยังมี แขนงย่อย ๆ ไปเลี้ยงที่เยื่อแก้วหูและรับรสที่ลิ้นอีกด้วย

โรคติดเชื้อไวรัสปลายประสาทคู่ที่ 7 นี้สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนอาการหน้าเบี้ยวมักเกิดขณะที่เส้นประสาทมีอาการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ในคนที่ปกติแข็งแรงดีมาก่อน เชื่อว่าสาเหตุการเกิดโรคอาจเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย จนทำให้มีการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วย เบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือต่อมน้ำเหลือง ผู้ติดเชื้อ ไวรัสเอชไอวี และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง เป็นต้น

อาการของโรค Bell palsy นี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยสามารถสังเกตได้เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกว่าหน้าหนัก ๆ หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง ทานน้ำมีน้ำไหลจากมุมปาก บางรายมีอาการลิ้นชาหรือหูอื้อ ๆ ร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เร็ว เพราะตกใจหรือมีคนทักหรือกลัว ตัวเองเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง อุดตัน แต่สามารถแยกอาการ ได้โดยโรคหลอดเลือดสมอง อุดตัน มักมีอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย ได้แก่ แขนขาอ่อนแรงข้างเดียวกับที่มีปากเบี้ยว ตาเห็นภาพซ้อน เดินเซหรือมีอาการบ้านหมุน

เมื่อผู้ป่วยมาพบเข้ารับการรักษา แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากประวัติและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก และตรวจร่างกายโดยแพทย์ระบบประสาท ในบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจเลือดหรือเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม ส่วนวิธีการรักษานั้นอย่างแรกเราต้องทราบก่อนว่าอาการ Bell palsy ในแต่ละรายไม่เท่ากัน สาเหตุหรือการบวมอักเสบของเส้นประสาทก็แตกต่างกัน ในบางรายที่มีอาการน้อย อาจจะไม่ต้องทำอะไรก็หายเองได้ใน 2-3 สัปดาห์

อย่างไรก็ตามการศึกษาในปัจจุบันพบว่า ยากลุ่มสเตีย รอยด์ (Steroid) สามารถช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาท ทำให้หายเร็วขึ้น โดยการให้ยาในวันแรก ๆ ที่เริ่มมีอาการจะให้ผลในการรักษาที่ค่อนข้างดี นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสเริม และยาวิตามินบี ซึ่งจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้

สำหรับอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถหลับตาได้สนิทหรือกะพริบตาน้อยลงมีผลทำให้กระจกตาแห้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรค Bell palsy คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบหรือมีแผลที่กระจกตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้โดยการปิดตาและหยอดน้ำตาเทียม นอกจากนี้ยังต้องมีการรักษา ด้วยการทำกายภาพด้วยการ ใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือใช้วิธีแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ซึ่งก็มีรายงานว่าสามารถช่วยได้ในบางราย

หลังจากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคและทำการรักษาแล้ว ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นมากใน 2-3 อาทิตย์แรก และประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เป็นจะหายสนิท ส่วนอาการที่เหลือจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ ใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือเกิดจากเชื้องูสวัด มักจะไม่หายสนิท โอกาสเป็นซ้ำอีกพบน้อยมาก แต่ถ้าเกิดเป็นซ้ำหลายครั้งควรรีบไปพบประสาทแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหรือตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ เพิ่มเติม

โรคปากเบี้ยวนี้ถึงแม้แพทย์จะยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายมาก แต่ก็เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากมีอาการปากเบี้ยว บังคับหน้าไม่ได้ หรือเผชิญกับเจ้าเชื้อไวรัสตัวนี้อย่างแน่นอน ฉะนั้นเราจึงควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเราอาจถูกไวรัสร้ายตัวนี้คุกคามกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปก็ได้.

ที่มา : เดลินิวส์ : 06/ก.ย./2553

---------------------------------------------------------------

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก...คุณก็เสี่ยงเหมือนกันนะ! (Lisa)

ใบหน้าบิดเบี้ยว...ไม่ได้เกิดขึ้นยากอย่างที่คิด ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และหากรักษาอย่างรวดเร็วก็จะหายได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้าเห็นแค่อาการโดยไม่เข้าใจเลยก็อาจกลัวโรคนี้มาก ๆ หรืออาจไม่รู้ว่าที่เป็นอยู่น่ะคือ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ Bell’s Palsy วันนี้ก็เลยต้องมาคุยกันหน่อยจะได้ไม่วิตกยังไงล่ะคะ

ใครที่ติดตามข่าวบันเทิงบ้านเราคงจะได้ยินข่าวดาราหนุ่ม โอ-อนุชิต ที่ป่วยเป็นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรือ "ปลายประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ" ซึ่งตอนแรกนั้นก็แค่รู้สึกเหมือนนอนตกหมอน หลังจากนั้นก็เริ่มควบคุมใบหน้าซีกซ้ายไม่ได้ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หลังจากนั้นหนุ่มโอก็เข้ารับการรักษาและมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คุณผู้อ่านบางคนอาจจะยังมีข้อสงสัยกันบ้าง เราจึงขอมาเคลียร์กันให้เข้าใจในวันนี้

ทำไมหน้าถึงเบี้ยว

ก่อนจะเข้าใจว่า "โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก" หรือ Bell’s Palsy เกิดจากอะไร เรามาดูเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกันก่อน ซึ่งก็คือ CN-VII หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่เริ่มต้นจากก้านสมองในส่วนที่เรียกว่า Pons ก่อนจะแตกสาขาครั้งแรกในต่อมน้ำลานใต้หู แล้วแตกเป็นใยประสาทมากกว่า 7,000 สาขาซึ่งแยกไปตามใบหน้าลำคอ ต่อมน้ำลาย และหูส่วนนอก เส้นประสาท เหล่านี้จะควบคุมกล้ามเนื้อลำคอ หน้าผาก และควบคุมการแสดงสีหน้า

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเกิดขึ้นเนื่องจากอาการอักเสบของเส้นประสาทดังกล่าวภายใน Fallopian Canal ซึ่งแคบมากๆ การอักเสบนั้นจึงส่งแรงกดไปที่เส้นประสาท หรือถ้าตัวเส้นประสาทเกิดการอักเสบภายในท่อดังกล่าวเสียเองก็จะทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน จนในที่สุดหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งเส้นประสาทคู่ที่ 7 รับผิดชอบนั้นจะซะงัก นั่นหมายความว่าถ้าเกิดอัมพฤกษ์ลามไป บริเวณที่ไม่ใช่ใบหน้า หรือใบหน้าขยับได้บางส่วน นั่นก็ไม่ใช่โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกแล้วค่ะ

คุณเองก็เสี่ยงกับโรคนี้เหมือนกัน

ใครๆ ก็อาจเป็นโรคนี้ได้ แม้ว่ามักจะเกิดในคนที่มีอายุ 15-60 ปี แต่เด็กๆ หรือคนชราก็ไม่ใช่ ข้อยกเว้นสำหรับโรคนี้ ส่วนที่พบได้มากก็คือหญิงมีครรภ์ในช่วงใกล้คลอดหรือคนที่เพิ่งคลอดบุตร ส่วนผู้ป่วยเบาหวานก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 4 เท่า นอกจากนี้ โรคต่างๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงกับโรคใบหน้าเบี้ยวได้เช่นกัน สำหรับอุบัติการณ์ของโรคพบที่ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยปีละประมาณ 40,000 คน

เมื่อเป็นแล้วจะ...

หลายคนที่มีอาการเป็นครั้งแรกจะไม่รู้ว่านี่คือโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ทีแรกอาจรู้สึกแค่ปวดหลังหู (ซึ่งเป็นอาการที่สำคัญของโรค) หรืออาจรู้สึกว่าหน้าตึงๆ ไม่สามารถหลับตาหรือขยับได้ดังใจ โดยมีลักษณะอาการที่สังเกตได้ดังนี้

•ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ (รวมถึงหน้าผาก)

•มักจะรู้สึกปวดหรือชาในหู ใบหน้า คอ หรือกรามข้างที่มีอาการ

•ปวดศีรษะ

•ไม่รู้รสชาติอาหาร

•ผู้ป่วย 60% จะมีการติดเชื้อจากไวรัสก่อนแสดงอาการ

•ประสาทการได้ยินอาจเปลี่ยนไป (บ่อยครั้งที่พบว่าการได้ยินจะไวมากขึ้น)

•บางกรณีที่หายยากจริงๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการทั้งสองซีกของใบหน้า

อย่างไรก็ดี อาการของโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกอาจจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีแรกผู้ป่วยอาจพบว่าตื่นมาวันหนึ่งแล้วประสบกับอาการใบหน้าบิดเบี้ยวเลย หรือในกรณีที่สองก็จะมีอาการนำมาก่อน อย่างเช่น ตาแห้ง คันบริเวณริมฝีปาก ปวดด้านในหู แต่อาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าที่อาการจะปรากฏแน่ชัดว่าเป็น Bell’s Palsy จริงๆ หลังจากนั้นสามสี่วันอาการจะรุนแรงที่สุด แต่จะรุนแรงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ข่าวดีก็คือโรคนี้จะไม่ทำให้ส่วนอื่นของร่างกายชาด้านหรือเป็นอัมพฤกษ์ ดังนั้น ถ้าอาการลามไปถึงส่วนอื่นๆ ด้วย คุณอาจจะต้องให้คุณหมอตรวจสอบเพิ่มเติมดีกว่า

หายได้...ด้วย "เวลา"

ผู้ป่วยโรคใบหน้าเบี้ยวประมาณ 50% จะหายจากโรคโดยเด็ดขาดภายในระยะเวลาอันสั้น และอีก 35% อาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งปี เพื่อจะได้หายขาดจากโรค

ข่าวดีก็คือ Bell’s Palsy มักถูกมองว่าเป็นอาการบาดเจ็บของประสาท ซึ่งมีการรักษาตัวเองได้เพียงแต่ระยะเวลาและการฟื้นฟูก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าบาดเจ็บมากน้อยเพียงไร หากเส้นประสาทบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย การฟื้นฟูนั้นก็รวดเร็วและอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่วันจนถึงไม่กี่สัปดาห์ แต่โดยเฉลี่ยแล้วเส้นประสาทอาจสร้างตัวเองใหม่ได้ที่ความเร็ว 1-2 มิลลิเมตรต่อวัน และอาจสร้างติดต่อกันได้ 18 เดือน หรือนานกว่านั้น อาการของโรคจึงค่อยๆ ทุเลาลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

ข่าวร้ายก็คือเมื่อเป็นแล้วอาจเป็นอีกได้ แม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม สำหรับคนที่เคยป็นแล้ว โอกาสที่จะเป็นอีกครั้งอยู่ที่ 5-9% ในช่วง 10 ปี

Thailand’s Cure Bell’s Palsy รักษาอย่างไร?

สำหรับวิธีการรักษานั้น Lisa ได้มาสอบถามอายุรแพทย์ระบบประสาท ประจำศูนย์สมองและระบบประสาท ร.พ.พญาไท 3 ซึ่งอธิบายว่า กรรักษาอาจมีตั้งแต่การรักษาด้วยยาลดอาการบวม ลดการอักเสบ ยาบำรุงปลายประสาท ตลอดจนการกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใบหน้าในบางรายอาจมีข้อบ่งชี้เรื่องการให้ยาด้านไวรัสร่วมด้วย สำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้น มักจะเป็นกรณีที่พบน้อยและตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเกิดจากสาเหตุเนื้องอกในสมอง เป็นต้น โดยมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง ชา หรือลิ้นแข็ง ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมิน ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ แต่ในบางรายอาจพบร่องรอยของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ยังขยับได้ไม่เท่ากันอยู่บ้าง

Did You Know?

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้น ถูกเรียกว่า "Bell’s Palsy" ตามชื่อ เซอร์ชาร์ลส์ เบลล์ศัลยแพทย์ชาวสกอตผู้ศึกษา เส้นประสาทคู่ที่ 7 และบทบาทของมันต่อกล้ามเนื้อใบหน้า เมื่อ 200 ปีที่แล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือLisa Vol.11 No.43 3 พฤศจิกายน 2553


---------------------------------------------------------------


ถึงโรคอัมพาตเบลล์ หรือ โรคเบลล์ พอสซี่ belle’s palsy หรือ โรคเบลล์ พัลซี่(bell palsy) หรือ ชื่อแบบไทยไทย เรียกว่า ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก จะไม่ใช่โรคใหม่อะไร แต่วิทยาการสมัยใหม่ก็สามารถช่วยให้เราวินิยฉัยโรคต่างๆได้ง่ายและแม่นยำขึ้น ทั้งนี้ยังช่วยให้เรารักษา อาการ โรคติดเชื้อไวรัสปลายประสาทคู่ที่ 7 หรือ โรคปากเบี้ยว ได้ผลมากขึ้น หากท่านพบว่ามีอาการคล้ายๆกับที่กล่าวมา อย่ารอช้านะครับ รับไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุจะได้รักษาได้ทันท่วงที ยังมีบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อีกครับถ้าสนใจลองคลิ๊กเข้าไปอ่านได้ครับ

โรคปลายประสาทอักเสบ วิธีการรักษา อาการชา มือ แขน ขา

โรคปลายประสาทอักเสบ วิธีการรักษา อาการชา มือ แขน ขา
ปลายประสาทอักเสบ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า (Peripheral neuropathies) หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อ บางท่านทราบมาว่าจะมีอาการ รับรู้ความรู้สึกที่ผิดไปจากเดิม เช่น อาการ ชา อ่อนแรง ที่แขนและขา ปลายมือ ปลายเท้า แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามัน เกิดจากอะไรใช่ไหมครับ ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ โรคปลายประสาทอักเสบกันนะครับ

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  ระบบประสาทแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนมัติ  ซึ่งระบบประสาทส่วนปลายเกี่ยวข้องกับ 2  สิ่ง คือ การเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก   ปลายประสาทอักเสบส่วนมากมักพบในผู้สูงอายุ แต่ในคนที่อายุน้อยพบได้เช่นกัน   ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ  อาการของปลายประสาทอักเสบ คือ ปวด บวม แดง ร้อน หรือถ้าดูในกล้องจุลทรรศน์จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก แสดงว่ามีปฏิกิริยาต่อการอักเสบ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ

     กลุ่มแรก
มีการอักเสบจริง ๆ ที่ระบบประสาทส่วนปลาย  อาจมี สาเหตุ มาจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรืออาจพบในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ  ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง  ชา แต่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ ทำงานได้ หรือในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงจนถึงกล้ามเนื้อสำคัญ ๆ  เช่น กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ  ใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ตัวเองของร่างกาย ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงจะสามารถฟื้นได้
โดยการให้ยาบางชนิดเป็นยากลุ่มที่เป็นเซรั่มแก้อาการแพ้เข้าไปช่วย ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพง หรือหากติดเชื้อรุนแรงบริเวณกล้ามเนื้อสำคัญบริเวณแขน ขา อาจมีอาการอ่อนแรง บางรายอาจต้องทำกายภาพบำบัด

     กลุ่มที่ 2
เป็นกลุ่มที่ขาดวิตามิน หรือสารบางชนิด เช่น วิตามินบี ซึ่งพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันมีการบริโภคอาหารที่ดีขึ้น

     กลุ่มที่ 3
เป็นผลมาจากพิษต่าง ๆ เช่น พิษจากตะกั่ว โลหะหนัก พิษเหล่านี้จะทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเสียไปมักจะเป็นที่ปลายมือปลายเท้า 
นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คล้ายจะเป็นที่ระบบประสาทส่วนปลาย  แต่เป็นความผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไขสันหลัง เช่น มีเนื้องอกหรือมีอะไรไปกดที่เส้นประสาท หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทบริเวณบั้นเอว ซึ่งพบได้บ่อย จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา อ่อนแรง และมีอาการปวด เสียการทรงตัวเนื่องจากขาอ่อนแรง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกจะมีท่าเดินลักษณะเฉพาะ หรือบางครั้งอ่อนแรง รวมทั้งกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน   สามารถทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย จะมีอาการ ชา อ่อนแรง ซึ่งการรักษาจะเป็นไปตามแนวของเส้นประสาทที่ผิดปกติ  ส่วนใหญ่จะเป็นที่บริเวณแขนและขา ปลายมือ ปลายเท้า เพราะมีเส้นประสาทจำนวนมาก
 
          อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบ ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ปลายมือปลายเท้า  ถ้าพบว่า มีบาดแผลหรือฟกช้ำที่ปลายมือปลายเท้า ควรรีบพบแพทย์ทันที  เพราะถ้าปล่อยไว้  แผลอาจทำให้ลุกลามและรักษายาก  
ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์



----------------------------------------------------------------------------


โดย พันเอก (พิเศษ) รศ.นพ. วรัท ทรรศนะวิภาส  กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathies)

หลายๆ คนอาจเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอาการชาหรือรับความรู้สึกเจ็บปวด, ร้อน, เย็นต่างๆ ผิดปกติบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกายโดยเฉพาะที่แขนและขากันมาบ้าง ซึ่งอาการชาๆ แบบนี้มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่น ชาแบบร้อน ซู่ๆ บริเวณนิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง ซึ่งมักพบอาการตอนดึกหรือหลังตื่นนอนใหม่ๆ

ส่วนบางคนรู้สึก ชายุบยิบที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชาหนาๆ เหมือนใส่ถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ในขณะที่ผู้สูงอายุหลายคนที่เริ่มมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว อาจมีอาการปวดหลังและชาขา ร่วมไปกับอาการขาอ่อนแรงด้วย

จะเห็นได้ว่าอาการชานั้นอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น อาการปวด หรืออ่อนแรง และอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นอยู่ตลอดเวลาบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ ส่วนมากมักเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทหรือที่เรียกว่า ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathies)

โรคปลายประสาทอักเสบนั้นเกิดได้จากหลาย สาเหตุ ได้แก่

1. การกดทับเส้นประสาทเฉพาะที่
เมื่อเส้นประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งถูกกดทับเป็นระยะเวลานานๆ ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มอาการที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ หรือ Carpal Tunnel Syndrome ซึ่งมักพบในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมืออย่างหนักจนเนื้อเยื่อที่ข้อมือหนาตัวขึ้นปละกดรัดเส้นประสาท เช่น คนที่ทำงานบ้าน, ซักผ้า, รีดผ้า ,พิมพ์ดีด หรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ

- กลุ่มอาการที่เส้นประสาทถูกกดเบียดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวด ชา ช่วงหลังลามไปถึงขา หรือ เส้นประสาทที่สะโพกถูกกดเบียด ทำให้รู้สึกชาบริเวณสะโพก มักเกิดเมื่อนั่งอยู่ในท่าทางเดิมนานๆ หรือใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป พบบ่อยโดยเฉพาะคนที่ค่อนข้างอ้วน

2. เป็นผลจากโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่น
- โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานและคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมักเกิดอาการชาจากปลายประสาทอักเสบตามมาเรียกโรคนี้ว่า Diabetic neuropathies

- โรคอื่นๆ เช่นไทรอยด์บางชนิด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคติดเชื้อบางชนิด, ความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท

3. สาเหตุอื่นๆ
- อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ จนส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย
- ยาหรือสารพิษบางชนิด เช่น ยาต้านมะเร็ง, ยากันชัก, ยาปฏิชีวนะบางชนิด, สารตะกั่ว, ปรอท เป็นต้น กลุ่มนี้ถ้าทราบและกำจัดสาเหตุตั้งแต่แรก อาการต่างๆ มักจะกลับเป็นปกติได้

จะรักษาและป้องกันอาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้อย่างไร?
การรักษาอาการชาจากโรคปลายประสาทอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุต่างๆ กันดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งการรักษาบางกรณีอาจใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่

1. กำจัดจากสาเหตุ เช่น
- หากเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับควรลดหรือเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานาน โดยพยายามไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานจนเกินไป
- ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่าปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องนานๆ

2. การรักษาด้วยยา
นอกจากจะต้องรับประทานยาสำหรับโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว อาจมีการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาแก้ปวดในกรณีที่มีอาการปวด และควรรับประทานวิตามิน เช่น มีโคบาลามินในขนาดสำหรับการรักษาเพื่อส่งเสริมในกระบวนการซ่อมแซมเส้นประสาทบรรเทาอาการชาและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น

3. การผ่าตัด ในกรณีที่มีอาการรุนแรง

4. การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

อาการชาแบบไหน อาจเป็นปลายประสาทอักเสบ
การตรวจสอบด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ ว่าท่านมีภาวะปลายเส้นประสาทอักเสบหรือไม่
- รู้สึกซู่ซ่า หรือเป็นเหน็บที่ปลายเท้า
- รู้สึกเหมือนเข็มแทงที่ปลายเท้า
- รู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปลายเท้า
- รู้สึกไวต่อความเจ็บปวด เช่น การแตะสัมผัสเบาๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บ
- เจ็บปลายเท้าโดยเฉพาะกลางคืน
- ปลายมือ ปลายเท้าเย็น หรือร้อนผิดปกติ
- ปลายเท้าชา และไม่รู้สึกเมื่อสัมผัส
- มือและเท้าไม่รู้สึกถึงความรู้สึกร้อนเย็น
- ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อมีแผลที่เท้า
- กล้ามเนื้อที่ขา และเท้าอ่อนแรง
- รู้สึกไม่ค่อยมั่นคง และอ่อนแรงเวลายืน หรือเดิน
- เมื่อมีแผล มักเป็นแผลเรื้อรัง
- รูปร่างของเท้าผิดปกติไปจากเดิม
ที่มา : www.anyapedia.com/2014/06/blog-post_17.html

----------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณ แพทย์ที่ให้ความรู้พวกเราเกี่ยวกับ โรคปลายประสาทอักเสบ และ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อาการชา ตามที่ต่างๆ ข้อควรระวัง และ วิธีรักษา โรคปลายประสาทอักเสบ ครับ หากเพื่อนๆท่านใดพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายดังกล่าว อย่ารอช้านะครับ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการครับ

25580117

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า กับ เอ็มวีดี(จุลศัลยกรรมประสาท)

พอดีผมผ่านไปเจอบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า หรือในชื่อที่ฝรั่งเรียกกันว่า Trigeminal Neuralgia ซึ่งเกิดจากการผิดปรกติของเส้นประสาทรับความรู้สึกของใบหน้าคู่ที่ 5 ที่อาจโดนกดทับด้วยเส้นเลือดในสมอง บทความนี้จะบอกอาการที่ปวดใบหน้าแบบต่างๆ รวมไปถึงวิธีที่ทำการรักษา ยังไงเพื่อนๆลองอ่านดูนะครับเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

"เอ็มวีดี"จุลศัลยกรรมประสาท รักษาอาการปวดใบหน้า
ยุคนี้สมัยนี้ โรคแปลกๆมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น อาการปวดหน้า หรือ ปวดใบหน้า ที่มีลักษณะคล้ายโดนเข็มทิ่มแทง หรือโดนไฟช็อต ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็สร้างความไม่ปกติสุขให้กับผู้ที่มีอาการของโรคนี้ ยิ่งถ้าไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด อาจจะไปรักษาแบบผิดๆ ที่นอกจากจะไม่หายจากอาการปวดแล้ว ยังอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นไปอีก
ล่าสุด ความรู้ทางการแพทย์พบว่าอาการปวดใบหน้าส่วนใหญ่มักเกิดจากเส้นประสาทรับความรู้สึกของใบหน้าคู่ที่ 5 โดนกดทับโดยเส้นเลือดในสมอง ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด
นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลวิภาวดี อธิบายว่า อาการปวดใบหน้า โรคนี้ไม่มีชื่อเฉพาะเป็นภาษาไทย แต่ทางการแพทย์มักนิยมเรียกกันว่า “กลุ่มอาการปวดใบหน้า” กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้มีลักษณะเด่นที่เหมือนกันคือมีอาการปวดที่ใบหน้า (มักเป็นเฉพาะซีกใดซีกหนึ่งของใบหน้าเท่านั้น) โดยอาการปวดอาจเป็นทั้งซีกหรือเฉพาะบางที่
“บางคนอาจมีอาการปวดเฉพาะบริเวณเหนือคิ้ว ใต้มุมปากลงมา แก้มหรือหน้าหู ในบางรายอาจจะปวดด้านในของปาก กระพุ้งแก้ม หรือเหงือก โดยเฉพาะเวลาแปรงฟัน ทำให้ผู้ป่วยหลายรายไม่ยอมแปรงฟัน หรือแปรงเฉพาะซีกที่ไม่มีอาการปวด อาการปวดในแต่ละคนอาจแตกต่างออกไป บางคนปวดหน้า ใบหู ปวดเวลาเคี้ยว ซึ่งลักษณะและบริเวณที่ปวดนี้ จะช่วยจำแนกโรคด้วย เพราะบางครั้งอาการปวดบางอย่างอาจเกิดจากโรคขากรรไกรอักเสบ ซึ่งเป็นคนละอาการกับการปวดใบหน้า” คุณหมอเมธีบอก พร้อมกับให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ลักษณะอาการปวดใบหน้า ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนไฟฟ้าช็อต ปวดรุนแรง ปวดเสียว ปวดร้าวเหมือนไฟดูด หลายรายปวดจนน้ำตาไหล อาการปวดเหล่านี้สามารถถูกกระตุ้น หรือถูกทำให้รุนแรงได้ด้วยการสัมผัสบริเวณใบหน้า บางรายแม้แต่ลมพัดโดนหน้าก็จะปวดเสียวอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าออกสังคม ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีปัญหาในการวินิจฉัย เพราะแพทย์จะลังเลที่จะตัดสินใจว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่

คุณหมอเมธี บอกว่า เดิมทีทางการแพทย์ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ การรักษาที่ผ่านมาจึงเป็นการรักษาตามอาการโดยการให้ยาแก้ปวด ยานอนหลับ หรือยาในกลุ่มที่ลดอาการปวดปลายประสาทโดยเฉพาะ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ เพียงแค่ทำให้อาการทุเลาแค่ชั่วคราว ที่สำคัญคือ พอใช้ยาลดปวดไปนานๆแล้วไม่หาย ก็ต้องเพิ่มขนาดยา เพราะผู้ป่วยมักมีอาการดื้อยา จนทำให้ผู้ป่วยหลายรายอยากฆ่าตัวตาย เพราะเชื่อว่าเป็นโรคเวรโรคกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา ยังบอกด้วยว่า ในบางรายที่ได้รับยาอาจเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น ตับวาย เม็ดเลือดลดลงเนื่องจากมีการกดไขกระดูก ง่วงซึมจนทำงานไม่ได้ ที่น่ากลัวที่สุดคือการแพ้ยาแบบรุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังไหม้ เปลือกตาไหม้ ตาบอด ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตจากการแพ้ยาได้
“บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยหลายรายได้รับการอุดฟัน รักษารากฟัน ถอนหรือใส่ฟันปลอม หรือแม้แต่ถอนฟันหลายซี่ เพราะทันตแพทย์เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคในช่องปาก โดยเฉพาะรายที่มีอาการปวดในกระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยบางรายไปพบแพทย์ทางหูคอจมูกเพราะเข้าใจว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับกราม กระดูกใบหน้า บางรายต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์เพราะมีอาการซึมเศร้าจากอาการปวดเรื้อรังหรือรุนแรง” คุณหมอเมธีบอก
คุณหมอเมธี ยังบอกอีกว่า ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ทราบว่าโรคนี้เกิดจากการที่เส้นประสาทที่รับความรู้สึกของใบหน้าคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) โดนกดทับโดยเส้นเลือดในสมอง เมื่อเส้นเลือดสมองไปพาดอยู่บนเส้นประสาทดังกล่าว เส้นเลือดที่มีการเต้นตามจังหวะชีพจรก็จะไปกระแทกเข้าที่เส้นประสาท ทำให้เกิดการกระตุ้นที่เส้นประสาทอยู่ตลอดเวลา ผลก็คือ ผู้ป่วยเกิดการไวต่อการตอบสนองของความรู้สึกที่ผิวหนังบริเวณใบหน้ามากเกินไปจนตามด้วยอาการเจ็บปวด
ในบางรายยังพบว่ามีเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาทคู่ที่ 5 ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดใบหน้าทุกรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซเรย์สมองอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนเริ่มการรักษา ซึ่งหากเป็นไปได้ควรตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์แม่เหล็ก (MRI)
ทั้งนี้ ในศูนย์การแพทย์หลายแห่งทั่วโลกได้เปลี่ยนแนวคิดการรักษาโรคนี้จากการกินยาเป็นการผ่าตัด ที่ในทางการแพทย์เรียกว่า Microvascular decompression (MVD) เป็นการทำจุลศัลยกรรม ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์และเครื่องมือในระดับจุลศัลยกรรมสมอง (Microsurgery) ศัลยแพทย์ระบบประสาทจะทำการผ่าตัดเพื่อแยกเส้นเลือดออกจากเส้นประสาทโดยลงแผลผ่าตัดด้านหลังใบหูยาวเพียง 2-3 เซนติเมตร ใช้เวลาผ่าตัดไม่เกิน หนึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 80 มีอาการดีขึ้นแทบจะทันทีหลังผ่าตัด บางรายหายขาด บางรายอาจยังมีอาการปวดหลงเหลืออยู่ แต่สามารถคุมได้ด้วยยาเพียงเล็กน้อย หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วัน
หากมีอาการปวดใบหน้าอย่าปล่อยทิ้งไว้ ลองปรึกษาหรือพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาให้หายขาด.
credit : thairath.co.th/content/475131

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็น โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า หรือเป็น โรคอะไรผมเองเชื่อว่ากำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกำลังใจนั้นสามารถทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคได้เสมอ รักษากำลังใจไว้นะครับ