25580131

โรคปลายประสาทอักเสบ วิธีการรักษา อาการชา มือ แขน ขา

โรคปลายประสาทอักเสบ วิธีการรักษา อาการชา มือ แขน ขา
ปลายประสาทอักเสบ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า (Peripheral neuropathies) หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อ บางท่านทราบมาว่าจะมีอาการ รับรู้ความรู้สึกที่ผิดไปจากเดิม เช่น อาการ ชา อ่อนแรง ที่แขนและขา ปลายมือ ปลายเท้า แต่ก็ยังไม่รู้ว่ามัน เกิดจากอะไรใช่ไหมครับ ครั้งนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ โรคปลายประสาทอักเสบกันนะครับ

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  ระบบประสาทแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือ ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนมัติ  ซึ่งระบบประสาทส่วนปลายเกี่ยวข้องกับ 2  สิ่ง คือ การเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก   ปลายประสาทอักเสบส่วนมากมักพบในผู้สูงอายุ แต่ในคนที่อายุน้อยพบได้เช่นกัน   ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ  อาการของปลายประสาทอักเสบ คือ ปวด บวม แดง ร้อน หรือถ้าดูในกล้องจุลทรรศน์จะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก แสดงว่ามีปฏิกิริยาต่อการอักเสบ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ

     กลุ่มแรก
มีการอักเสบจริง ๆ ที่ระบบประสาทส่วนปลาย  อาจมี สาเหตุ มาจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรืออาจพบในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ  ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง  ชา แต่ยังสามารถไปไหนมาไหนได้ ทำงานได้ หรือในผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงจนถึงกล้ามเนื้อสำคัญ ๆ  เช่น กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ  ใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ตัวเองของร่างกาย ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงจะสามารถฟื้นได้
โดยการให้ยาบางชนิดเป็นยากลุ่มที่เป็นเซรั่มแก้อาการแพ้เข้าไปช่วย ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพง หรือหากติดเชื้อรุนแรงบริเวณกล้ามเนื้อสำคัญบริเวณแขน ขา อาจมีอาการอ่อนแรง บางรายอาจต้องทำกายภาพบำบัด

     กลุ่มที่ 2
เป็นกลุ่มที่ขาดวิตามิน หรือสารบางชนิด เช่น วิตามินบี ซึ่งพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้น้อย เนื่องจากปัจจุบันมีการบริโภคอาหารที่ดีขึ้น

     กลุ่มที่ 3
เป็นผลมาจากพิษต่าง ๆ เช่น พิษจากตะกั่ว โลหะหนัก พิษเหล่านี้จะทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเสียไปมักจะเป็นที่ปลายมือปลายเท้า 
นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่คล้ายจะเป็นที่ระบบประสาทส่วนปลาย  แต่เป็นความผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไขสันหลัง เช่น มีเนื้องอกหรือมีอะไรไปกดที่เส้นประสาท หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทบริเวณบั้นเอว ซึ่งพบได้บ่อย จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชา อ่อนแรง และมีอาการปวด เสียการทรงตัวเนื่องจากขาอ่อนแรง ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกจะมีท่าเดินลักษณะเฉพาะ หรือบางครั้งอ่อนแรง รวมทั้งกรณีที่เป็นโรคเบาหวาน   สามารถทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้เช่นกัน สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย จะมีอาการ ชา อ่อนแรง ซึ่งการรักษาจะเป็นไปตามแนวของเส้นประสาทที่ผิดปกติ  ส่วนใหญ่จะเป็นที่บริเวณแขนและขา ปลายมือ ปลายเท้า เพราะมีเส้นประสาทจำนวนมาก
 
          อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบ ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลที่ปลายมือปลายเท้า  ถ้าพบว่า มีบาดแผลหรือฟกช้ำที่ปลายมือปลายเท้า ควรรีบพบแพทย์ทันที  เพราะถ้าปล่อยไว้  แผลอาจทำให้ลุกลามและรักษายาก  
ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์



----------------------------------------------------------------------------


โดย พันเอก (พิเศษ) รศ.นพ. วรัท ทรรศนะวิภาส  กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathies)

หลายๆ คนอาจเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับอาการชาหรือรับความรู้สึกเจ็บปวด, ร้อน, เย็นต่างๆ ผิดปกติบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกายโดยเฉพาะที่แขนและขากันมาบ้าง ซึ่งอาการชาๆ แบบนี้มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน เช่น ชาแบบร้อน ซู่ๆ บริเวณนิ้วหัวแม่มือ, นิ้วชี้, นิ้วกลาง ซึ่งมักพบอาการตอนดึกหรือหลังตื่นนอนใหม่ๆ

ส่วนบางคนรู้สึก ชายุบยิบที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชาหนาๆ เหมือนใส่ถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ในขณะที่ผู้สูงอายุหลายคนที่เริ่มมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว อาจมีอาการปวดหลังและชาขา ร่วมไปกับอาการขาอ่อนแรงด้วย

จะเห็นได้ว่าอาการชานั้นอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น อาการปวด หรืออ่อนแรง และอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นอยู่ตลอดเวลาบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ ส่วนมากมักเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทหรือที่เรียกว่า ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathies)

โรคปลายประสาทอักเสบนั้นเกิดได้จากหลาย สาเหตุ ได้แก่

1. การกดทับเส้นประสาทเฉพาะที่
เมื่อเส้นประสาทส่วนใดส่วนหนึ่งถูกกดทับเป็นระยะเวลานานๆ ตัวอย่างเช่น
- กลุ่มอาการที่เส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ หรือ Carpal Tunnel Syndrome ซึ่งมักพบในกลุ่มคนที่ใช้ข้อมืออย่างหนักจนเนื้อเยื่อที่ข้อมือหนาตัวขึ้นปละกดรัดเส้นประสาท เช่น คนที่ทำงานบ้าน, ซักผ้า, รีดผ้า ,พิมพ์ดีด หรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ

- กลุ่มอาการที่เส้นประสาทถูกกดเบียดตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวด ชา ช่วงหลังลามไปถึงขา หรือ เส้นประสาทที่สะโพกถูกกดเบียด ทำให้รู้สึกชาบริเวณสะโพก มักเกิดเมื่อนั่งอยู่ในท่าทางเดิมนานๆ หรือใส่กางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป พบบ่อยโดยเฉพาะคนที่ค่อนข้างอ้วน

2. เป็นผลจากโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่น
- โรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานและคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมักเกิดอาการชาจากปลายประสาทอักเสบตามมาเรียกโรคนี้ว่า Diabetic neuropathies

- โรคอื่นๆ เช่นไทรอยด์บางชนิด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคติดเชื้อบางชนิด, ความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท

3. สาเหตุอื่นๆ
- อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ จนส่งผลให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย
- ยาหรือสารพิษบางชนิด เช่น ยาต้านมะเร็ง, ยากันชัก, ยาปฏิชีวนะบางชนิด, สารตะกั่ว, ปรอท เป็นต้น กลุ่มนี้ถ้าทราบและกำจัดสาเหตุตั้งแต่แรก อาการต่างๆ มักจะกลับเป็นปกติได้

จะรักษาและป้องกันอาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้อย่างไร?
การรักษาอาการชาจากโรคปลายประสาทอักเสบนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุต่างๆ กันดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งการรักษาบางกรณีอาจใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่

1. กำจัดจากสาเหตุ เช่น
- หากเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับควรลดหรือเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานาน โดยพยายามไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานจนเกินไป
- ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่าปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องนานๆ

2. การรักษาด้วยยา
นอกจากจะต้องรับประทานยาสำหรับโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว อาจมีการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, ยาแก้ปวดในกรณีที่มีอาการปวด และควรรับประทานวิตามิน เช่น มีโคบาลามินในขนาดสำหรับการรักษาเพื่อส่งเสริมในกระบวนการซ่อมแซมเส้นประสาทบรรเทาอาการชาและอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น

3. การผ่าตัด ในกรณีที่มีอาการรุนแรง

4. การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

อาการชาแบบไหน อาจเป็นปลายประสาทอักเสบ
การตรวจสอบด้วยตัวเองอย่างง่ายๆ ว่าท่านมีภาวะปลายเส้นประสาทอักเสบหรือไม่
- รู้สึกซู่ซ่า หรือเป็นเหน็บที่ปลายเท้า
- รู้สึกเหมือนเข็มแทงที่ปลายเท้า
- รู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปลายเท้า
- รู้สึกไวต่อความเจ็บปวด เช่น การแตะสัมผัสเบาๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บ
- เจ็บปลายเท้าโดยเฉพาะกลางคืน
- ปลายมือ ปลายเท้าเย็น หรือร้อนผิดปกติ
- ปลายเท้าชา และไม่รู้สึกเมื่อสัมผัส
- มือและเท้าไม่รู้สึกถึงความรู้สึกร้อนเย็น
- ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อมีแผลที่เท้า
- กล้ามเนื้อที่ขา และเท้าอ่อนแรง
- รู้สึกไม่ค่อยมั่นคง และอ่อนแรงเวลายืน หรือเดิน
- เมื่อมีแผล มักเป็นแผลเรื้อรัง
- รูปร่างของเท้าผิดปกติไปจากเดิม
ที่มา : www.anyapedia.com/2014/06/blog-post_17.html

----------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณ แพทย์ที่ให้ความรู้พวกเราเกี่ยวกับ โรคปลายประสาทอักเสบ และ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า อาการชา ตามที่ต่างๆ ข้อควรระวัง และ วิธีรักษา โรคปลายประสาทอักเสบ ครับ หากเพื่อนๆท่านใดพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายดังกล่าว อย่ารอช้านะครับ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจดูอาการครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. 4. การทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
    เกิดจากอาการบาดเจ็บทำมห้กระดูกคอข้อที่ 7 ทับเส้นปัจจุบันต้องนั่งรถเข็นมีวิธีบำบัดให้หายไหมคะ

    ตอบลบ